คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายคนคงกังวลกับการเลี้ยงลูกใช่ไหมละคะ เพราะทุกอย่างคือสิ่งที่ไม่เคยพบเจอ ไม่เคยมีประสบการณ์ ทุกอย่างใหม่หมด เรื่องที่ไม่รู้บางทีก็เป็นเรื่องที่ดูแล้วมันน่ากลัวหรือคิดว่ามันคงอันตราย อย่าง กระหม่อม บางๆ บริเวณศีรษะของลูก
กระหม่อมคืออะไร ต้องระวังแค่ไหน อันตรายไหม
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า บริเวณที่เรียกกันว่ากระหม่อม จริงๆ แล้ว หมายถึงรอยต่อของกระดูกบริเวณศีรษะค่ะ ที่กำลังสร้างเป็นกะโหลก เนื่องจากกะโหลกยัง จึงเป็นรอยต่อที่ยังไม่เชื่อมต่อกัน ซึ่งมีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กว้างประมาณ 3 – 4 ซม. ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่จะคิดว่ากระหม่อมของลูกอยู่ที่บริเวณด้านบนเยื้องมาทางด้านหน้าบริเวณเดียว แต่กระหม่อมของเด็ก ๆ จริง ๆ แล้วมี 2 ที่ค่ะ อีกที่คือบริเวณด้านหลังเหนือท้ายทอย มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 1 – 2 ซม. ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่กว้างเท่าด้านหน้าค่ะ
วิธีการดูแลจุดบอบบางบริเวณ กระหม่อม
เวลาอาบน้ำสระผมให้เด็กอ่อนก็ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและควรทำอย่างเบามือ เพราะในช่วงนี้กระหม่อมทารกยังไม่ปิดดี มีเพียงเนื้อเยื่อที่ปกป้องเอาไว้ สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังคือการถูกกระแทก เพราะข้างในมีสมอง และยังไม่มีกะโหลกหุ้ม หากสัมผัส ต้องทำอย่างเบามือ ที่สำคัญต้องคอยระวังเรื่องอุณหภูมิ อย่าให้หนาว หรือร้อนจนเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกป่วยได้ง่าย
การให้ลูกนอนหงายตลอดเวลา อาจทำให้ลูกหัวแบน แก้ไขโดยให้คุณพ่อคุณแม่จัดท่านอนลูกให้แตะคงซ้าย ขวา สลับกัน รวมทั้งให้นมสลับซ้ายขวา หัวแบนๆ ของลูกจะดีขึ้นได้
นอกจากนี้ ควรคอยสำรวจว่ากระหม่อมลูกยุบลง หรือนูนขึ้นไหม เพราะถ้าหากกระหม่อมของลูกมีการบุ๋มลง และลูกมีอาการลูกซึมลง ท้องเสีย อาเจียน และมีอาการตาโหลลึก อาจเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า ลูกมีภาวะขาดน้ำรุนแรง หากกระหม่อมลูกนูนขึ้น ไม่เต้นไปตามจังหวะชีพจร มีไข้ อาจแปลว่าลูกมีปัญหาด้านประสาทและสมอง ต้องพาไปพบแพทย์ทันที
ปิดเร็วไปไม่ดี
ซึ่งกระหม่อมจะปิดสนิทจริงๆ อย่างช้าที่สุดคือ ไม่เกิน 18 เดือนค่ะ กระหม่อมจำเป็นต้องใช้เวลาปิดที่ช้า เป็นเพราะสมองของลูกต้องใช้เวลาเจริญเติบโตก่องที่กระหม่อมจะปิด โดนปกติสมองจะโตเร็วกว่าการปิดของกระหม่อมอยู่แล้วค่ะ เพราะถ้าหากกระหม่อมปิดเร็วนั้น จะทำให้สมองเติบโตได้ไม่ดี ซึ่งบางทีอาจจะเติบโตเบียดอวัยวะอื่นๆ ทำให้เด็กจะมีศีรษะเล็กและพัฒนาการช้า ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตของสมองได้ไม่เต็มที่หากคุณพ่อคุณแม่สัมผัสดูแล้วพบว่ากระหม่อมปิดแล้ว ให้รีบพาไปคุณหมอได้เลยนะคะ คุณหมอจะทำการผ่าตัดแก้ไข ยิ่งถ้าพบเร็วเท่าไหร่ รักษาได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อลูกมากแค่นั้นนะคะ
ปิดช้าไปก็ไม่ดี
ส่วนกระหม่อมที่ปิดช้านั้น อาจจะบ่งบอกว่าลูกมีน้ำในสมองเยอะมากกว่าปกติ หรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมไร้ท่อ ซึ่งเกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ส่งผลถึงร่างกายและพัฒนาการของลูกค่ะ เมื่อลูกเข้าสู่เดือนที่ 18 คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตดูว่ากระหม่อมลูกปิดรึยัง หากยังไม่ปิดก็รีบพาลูกไปหาคุณหมอได้เลยค่ะ
กระหม่อมบางเหรอ ลูกถึงป่วยบ่อย
คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจก่อนว่า การสังเกตกระหม่อมลูกเป็นการสังเกตอาการเบื่องต้นค่ะ ลูกอาจจะเป็นโรคหรือไม่มีอะไรผิดปกติก็ได้ ทางที่ดีควรพาไปตรวจอย่างละเอียดกับคุณหมอหากเห็นว่าลูกผิดปกติจากเดิมไปนะคะ
กระหม่อม บุ๋ม
สำหรับเด็กๆ เกิดมาที่ผมบางจะสังเกตได้ง่ายกว่าเด็กที่เกิดมามีผมเยอะนะคะ เนื่องจากเห็นได้ด้วยตาเปล่าเลย ส่วนเด็กๆ ที่เกิดมาพร้อมผมหนานั้น ให้คุณพ่อคุณแม่สัมผัสเพื่อดูว่ากระหม่อมลูกบุ๋มหรือไม่ หากกระหม่อมลูกบุ๋มลงไปละก็ แสดงว่าลูกได้รับนมแม่ไม่เพียงพอนะคะ ซึ่งสังเกตการขับถ่าย หรืออาการแหวะนม ร่วมด้วยก็ได้ค่ะ หากเพิ่มปริมานนมหรือให้ลูกดูดนมนานขึ้นแล้ว อาการบุ๋มของกระหม่อมยังไม่ดีขึ้น รีบพาลูกไปหาคุณหมอทันทีนะคะ
กระหม่อม โป่งตึง
สัมผัสแล้วไม่สามารถกดเบาๆ ได้เลย อาจจะเป็นไปได้ว่าลูกเกิดการติดเชื้อ เพราะอาการนี้เป็นอาการที่บ่งบอกได้หลายสาเหตุค่ะ เช่น เป็นโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง เนื้องอกในสมอง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เลือดออกในสมอง ฝีในสมอง เป็นต้นนะคะ ควรรีบพาลูกไปหาคุณหมอทันทีเช่นกันค่ะ
การเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพของลูกเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ แต่การวิตกมากเกินไปนั้นก็ไม่ดีนะคะ ดังนั้นการไปตามนัดของคุณหมอประจำตัวลูกคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ และหากไม่สามารถรีบไปหาคุณหมอได้ การโทรไปปรึกษาปัญหาเบื่องต้นก่อนก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเลยใช่ไหมละคะ
ที่มา: Mombie Club, Health Channel
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:
น้ำนมแม่ กับการป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ภาวะสมองกระเทือนของลูกน้อยอันตรายกว่าที่คิด
แพทย์เตือน! พ่อแม่เลี้ยงลูกแบบตามใจเกินไป อาจเสี่ยงเป็นโรค ฮ่องเต้ซินโดรม ได้!